5 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยและวิธีลดความเสี่ยง

ในแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ แต่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในคนไทยมักมาจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดบวม หัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งก็อาจมาจากวัฒนธรรม อาหาร สภาพแวดล้อม และสภาพสังคม

สาเหตุของการเสียชีวิตเหล่านี้ บางครั้งอาจไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ ซึ่งการศึกษาข้อมูล การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และความคิดก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ มาดูกันว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทย และวิธีไหนที่อาจช่วยลดความเสี่ยง

5 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยและวิธีลดความเสี่ยง

5 สาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนไทย

จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 พบว่าสาเหตุต่อไปนี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในคนไทยตามลำดับ

1. โรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง (Cancers) เป็นโรคร้ายที่ทุกคนต่างหวาดกลัว โรคมะเร็งเกิดจากการที่เซลล์ภายในร่างกายแบ่งตัวมากกว่าปกติจนทำให้เซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติเหล่านั้นลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของทั้งอวัยวะที่เป็นจุดเกิดของเซลล์ อวัยวะที่ถูกลุกลาม

รวมทั้งการทำงานของร่างกายโดยรวม โรคมะเร็งมีหลายลักษณะ อย่างมะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งในรูปแบบเนื้องอก โรคมะเร็งหลายชนิดอาจสัมพันธ์กับทางพันธุกรรม และหากได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยเสี่ยง อย่างการสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารบางชนิด การได้รับสารพิษ พฤติกรรมหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้โรคมะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัวและร้ายแรง คือ โรคมะเร็งมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ทราบถึงสถานะการเจ็บป่วยของตนเอง แต่มักมาพบในระยะหลัง ซึ่งมีอาการรุนแรงและอัตราการรักษาที่ค่อนข้างต่ำ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่แน่ชัดในการป้องกันโรคมะเร็ง แต่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องและสม่ำเสมออาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ ซึ่งทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาดและมีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความผิดปกติของเซลล์ภายในร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงความเครียด หลีกเลี่ยงสารพิษและมลพิษ โรคมะเร็งบางชนิดที่มีการติดเชื้อเป็นปัจจัยหลัก อย่างโรคมะเร็งปากมดลูกอาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV) หรือโรคมะเร็งตับที่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเส

นอกจากนี้ การเอาใจใส่สุขภาพของตนเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำก็อาจช่วยให้ตรวจพบเซลล์มะเร็งได้เร็วและเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ด้วย

2. โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โรคนี้ค่อนข้างร้ายแรงและเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ภายในสมองได้ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดภายในสมองตีบ แคบ แข็ง และอุดตัน เมื่อสมองที่มีหน้าที่ควบคุมทุกส่วนภายในร่างกายขาดน้ำ สารอาหาร และออกซิเจนที่ส่งผ่านเลือดจึงไม่สามารถทำงานได้ปกติ ส่งผลทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น ขยับร่างกายไม่ได้ เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต

ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดภายในสมองตีบ แคบ แข็ง อุดตัน และอ่อนแอมักมาจากโรคและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคไต พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำ ใช้สารเสพติด รับประทานอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด ขาดการออกกำลังกาย และประสบกับความเครียดอยู่เป็นประจำ

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จึงเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ สำหรับใครที่กำลังป่วยด้วยโรคนี้ หรือคาดว่าตนเองกำลังเสี่ยงต่อโรคนี้ เมื่อมีอาการขยับแขนขาไม่ได้ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง

3. ปอดบวม

ปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) คือ การอักเสบบริเวณปอดที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาการที่พบอาจเกิดได้หลายระดับ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพหรือข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดบวมชนิดรุนแรงที่ทำให้ปอดเสียหายและฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคปอดบวมมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัด อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ คือ ไข้สูง หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก และรู้สึกอ่อนเพลีย หากพบว่าเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวภายในบ้านมีอาการของโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

4. หัวใจขาดเลือด

หัวใจขาดเลือด (Heart attack/Myocardial Infarction) เป็นภาวะที่เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากคราบตะกรันหรือคราบพลัค (Plaque) เมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและตายลง เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจก็ไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ จนทำให้ระบบร่างกายส่วนต่าง ๆ ล่มและเสียชีวิตในที่สุด

ภาวะหัวใจขาดเลือดเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การบริโภคอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย โดยผู้ที่มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์อาจมีความเสี่ยงของโรคนี้สูง

ดังนั้น การตัดพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเหล่านี้ และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เฮลตี้มากขึ้นอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และเพื่อป้องกันการเสียชีวิต หากพบอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ หายใจลำบาก เท้าบวม เหงื่อออกเยอะ และตัวเย็น ควรไปพบแพทย์ทันที

5. อุบัติเหตุบนถนน

อุบัติบนท้องถนน ไม่ว่าจากรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือรถสาธารณะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และมักนำมาซึ่งการสูญเสีย ผู้ประสบเหตุบางรายอาจบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่บางรายอาจสูญเสียอวัยวะ ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต การดำเนินชีวิตในปัจจุบันไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางบนท้องถนนได้เลย และแม้ว่าอุบัติเหตุจะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้

สองสิ่งหลัก ๆ ที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ คือ เครื่องยนต์ และคน การตรวจความพร้อมของเครื่องยนต์เป็นประจำก่อนใช้งาน โดยเฉพาะการเดินทางระยะไกล อาจช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้ สำหรับการเตรียมความพร้อมของคน ไม่ว่าจะเป็นสติและทักษะในการขับขี่ การเคารพกฎจราจร การใช้อุปกรณ์ป้องกัน อย่างเข็มขัดนิรภัยหรือหมวกกันน็อก ไปจนถึงทักษะในการตัดสินใจถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้

นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว ยังมีอีก 5 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยรองลงมา ได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • โรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง
  • โรคตับ
  • วัณโรคทุกชนิด
  • ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัสหรือโรคเอดส์

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก 10 สาเหตุนี้แล้ว ยังมีโรคและอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง

สุดท้ายนี้ แม้ว่าโรคและการเจ็บป่วยบางอย่างจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยง ลดความรุนแรงของโรค และเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น ขยับร่างกายให้มากขึ้น เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ

หากมีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหากไม่สบาย เกิดอาการผิดปกติ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตทั้งจากโรคภัยและอุบัติเหตุได้แล้ว