แพ้ยา (Drug Allergy)

ความหมาย แพ้ยา (Drug Allergy)

แพ้ยา (Drug Allergy) คือปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายในทางต่อต้านต่อยาที่ได้รับเข้าไป ในลักษณะคล้ายกับการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม โดยอาการที่เกิดตามมาจากกลไกนี้ก็มีตั้งแต่อาการอ่อน ๆ เช่น ผื่นขึ้น น้ำมูกไหล ไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น เวียนศีรษะ บวมตามร่างกาย หรืออาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

การแพ้ยาเป็นภาวะที่แตกต่างกับการเกิดผลข้างเคียงจากยา โดยผลข้างเคียงจากยาจะเป็นอาการที่สามารถคาดการณ์ได้จากกลไกการออกฤทธิ์ของยา เช่น ยาแก้ปวดอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้อง หรือยาลดน้ำมูกอาจส่งผลให้ง่วง แต่สำหรับการแพ้ยาจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าใครจะแพ้ยาบ้าง หรือใครจะแพ้ยาชนิดใดบ้าง

แพ้ยา

นอกจากนี้ การแพ้ยายังเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในระหว่างที่รับประทานยานั้น ๆ บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากยาเข้าสู่ร่างกาย หรือภายหลังรับประทานยาไปสักพัก และบางรายที่ไม่แพ้ยาตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ก็อาจเกิดอาการแพ้ขึ้นเมื่อรับประทานยาอีกครั้งในอนาคต

อาการของการแพ้ยา

อาการของการแพ้ยามีลักษณะคล้ายคลึงกันกับอาการแพ้อาหารหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแต่ละคนก็มีปฏิกิริยาแพ้ต่อสารต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือยีนที่เป็นตัวกำหนดว่าจะแพ้อะไร และแพ้ในระดับรุนแรงหรือไม่รุนแรง

โดยอาการที่ไม่รุนแรงที่มักพบได้ก็จะมีดังนี้

ส่วนการแพ้ยาอย่างรุนแรง อาการมักจะเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการรับประทานยา โดยมีลักษณะดังนี้

  • มีผื่นลมพิษขึ้นทั่วร่างกาย
  • ปากและลิ้นบวมจนหายใจไม่ออก
  • กลืนอาหารลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดบีบช่องท้อง
  • บวมตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนลง
  • อาการชัก
  • รู้สึกสับสน กระวนกระวาย
  • สูญเสียการรับรู้

นอกจากนี้ ยังมีการแพ้ยาอีกลักษณะที่พบได้ไม่บ่อย โดยจะเป็นการแพ้ยาที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้ผ่านไปหลายวันถึงหลายสัปดาห์หลังจากการรับประทานยา อีกทั้งอาการจะคงอยู่สักพักแม้หยุดรับประทานยาแล้ว และสามารถทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งสังเกตได้จากภาวะหรืออาการบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ภาวะภูมิไวเกิน อาจทำให้มีไข้ ปวดข้อต่อ เป็นผื่น อาการบวม และคลื่นไส้
  • โลหิตจางจากการใช้ยา ภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้มีอาการหายใจหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่น ๆ ตามมา
  • มีผลกระทบต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้ผิวลอก มีแผลพุพอง หรือเกิดโรคผิวหนังในกลุ่มผื่นแพ้ยาอย่างโรคทีอีเอ็น (Toxic Epidermal Necrolysis) และกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens–Johnson Syndrome)
  • ผื่นแพ้ยา ภาวะนี้จะทำให้เกิดผื่นขึ้น มีอาการบวม ต่อมน้ำเหลืองโต จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น และเกิดตับอักเสบได้
  • ไตอักเสบ (Nephritis) ซึ่งมีอาการบ่งชี้ เช่น ไข้ ปัสสาวะมีเลือด อาการบวม สับสน

ทั้งนี้ อาการแพ้ยาเป็นอาการรุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการในกลุ่มที่รุนแรง ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองมีอาการแพ้หลังรับประทานยาใด ๆ ไม่ว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งให้ทราบถึงอาการที่เกิดขึ้นทันที

สาเหตุของการแพ้ยา

อาการแพ้ยาเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อยาที่ร่างกายได้รับในลักษณะที่ผิดปกติไป คล้ายกับการตอบสนองต่อสารอันตราย

เมื่อภูมิคุ้มกันคิดว่าสารจากยาดังกล่าวเป็นอันตราย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อสารนั้นขึ้นมาและส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านด้วยการปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมาจำนวนมาก จนนำไปสู่อาการแพ้ตามมา

ทั้งนี้ ยาบางชนิดอาจมีโอกาสส่งผลให้เกิดอาการแพ้มากกว่าชนิดอื่น โดยยาใช้ในประเทศไทยที่มักส่งผลให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงก็เช่น

  • เพนิซิลลิน (Penicillin) และยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่ใกล้เคียง เช่น อะมอกซี่ซิลลิน (Amoxicillin)
  • ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa) เช่น ซัลฟาเมธอกซาโซล–ไตรเมโธพริม (Sulfamethoxazole–Trimethoprim) ซึ่งจัดเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง
  • อินซูลิน (Insulin) ยาใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน
  • ไอโอดีน (Iodine) ยาสำหรับรักษาโรคไทรอยด์
  • แอสไพริน (Aspirin) และยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาต้านชัก เช่น คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) และลาโมไตรจีน (Lamotrigine)
  • ยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง เช่น แพคลิแท็กเซล (Paclitaxel) โดซีแท็กเซล (Docetaxel) และโพรคาร์บาซีน (Procarbazine)
  • ยารักษาโรคเก๊าท์ เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • ยารักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบ
  • ยารักษาวัณโรค เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) และอีแทมบูทอล (Ethambutol)
  • ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ เช่น อะบาคาเวียร์ (Abacavir) และเนวิราปีน (Nevirapine)
  • ครีมหรือโลชั่นคอร์ติโคเสตียรอยด์ (Corticosteroid)
  • ผลิตภัณฑ์จากเกสรผึ้ง

นอกจากนี้ ในบางกรณี ปฏิกิริยาต่อยาบางชนิดก็อาจส่งผลให้เกิดอาการคล้ายการแพ้ยาขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการแพ้ยาหรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยอาการนี้เรียกว่าการแพ้ยาเทียม โดยยาที่มักทำให้เกิดปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงนี้ ก็เช่น ยาแอสไพริน สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจถ่ายภาพร่างกาย ยาโอปิออยด์ที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวด และยาชาเฉพาะที่ (Anesthetics)

การวินิจฉัยอาการแพ้ยา

ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติ สอบถามอาการของผู้ป่วย ประเมินความรุนแรงของของอาการ รวมไปถึงประวัติการใช้ยา อาหารเสริม และสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องตอบคำถามถึงเวลาที่เริ่มมีอาการ เวลาที่เริ่มรับประทานยา และอาการที่มีนั้นดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

หากมีความเป็นไปได้ว่าอาการของผู้ป่วยคือการแพ้ยา แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ทำการทดสอบเพื่อหาสิ่งที่แพ้ ดังนี้

การทดสอบผิวหนัง

วิธีนี้เป็นการทดสอบด้วยการใช้ยาที่คาดว่าผู้ป่วยจะมีการแพ้ในปริมาณเล็กน้อยแหย่เข้าไปภายใต้ผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ ผิวหนังจะแดง คัน และเป็นตุ่มขึ้นมา โดยมากอาการแพ้ที่ปรากฏขึ้นระหว่างการทดสอบจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยแพ้ยานั้น ๆ แต่ผลการทดสอบที่ไม่ปรากฏการแพ้อาจยากที่จะวินิจฉัยว่าไม่มีการแพ้ยาเกิดขึ้นจริง ๆ หรือแพ้แต่ไม่แสดงผ่านผลการทดสอบ

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นวิธีวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มียาชนิดที่สามารถใช้การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาอาการแพ้ได้ แต่มีน้อยมาก และยังไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากความแม่นยำของผลการทดสอบที่ยังยืนยันไม่ได้แน่ชัด ซึ่งแพทย์อาจเลือกใช้ในกรณีจำเป็นที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรงต่อการทดสอบทางผิวหนัง

หลังจากการวิเคราะห์อาการและการทดสอบอาการแพ้ยา ผลการทดสอบอาจสามารถสรุปได้ว่ามีอาการแพ้ยา ไม่มีอาการแพ้ยา หรือมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้ยาในระดับมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกใช้การรักษาในอนาคตต่อไป

การรักษาการแพ้ยา

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือมีความเป็นไปได้ที่อาการแพ้จะเกิดจากการใช้ยา อันดับแรกแพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาชนิดที่อาจเป็นสาเหตุก่อน และจะหลีกเลี่ยงการให้ยาที่แพ้หากไม่มีความจำเป็น ส่วนอาการแพ้ที่เกิดขึ้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

การใช้ยารักษาอาการแพ้

ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยา เช่น

  • ยาต้านฮิสตามีน แพทย์อาจให้ยาหรือแนะนำยาที่ขายตามร้านขายยา เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ เพื่อช่วยรักษาอาการแพ้จากการที่ร่างกายปล่อยสารฮีสตามีนออกมา
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจเป็นในรูปแบบยารับประทานหรือยาฉีด เพื่อใช้รักษาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากอาการแพ้รุนแรง
  • การฉีดยาเอพิเนฟริน (Epinephrine Injection) เพื่อรักษาอาการแพ้ยารุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงจำเป็นต้องได้รับโดยด่วน รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูระดับความดันโลหิตและการหายใจให้เป็นปกติ

การรักษาด้วยยาที่แพ้

ในบางกรณีที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอาการแพ้ยา หรือแพทย์เห็นว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ นอกจากใช้ยาที่อาจจะเป็นสาเหตุของอาการแพ้ แพทย์อาจรักษาโดยให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดนั้นไปพร้อมกับการเฝ้าดูอาการด้วยความใกล้ชิด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการให้ยาให้อยู่ในความเหมาะสม เช่น

  • สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถยืนยันถึงอาการแพ้ได้ แพทย์จะแบ่งให้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ในปริมาณทีละน้อย โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณในแต่ละครั้ง จนแพทย์เห็นว่าปริมาณยาที่ให้เป็นปริมาณยาในระดับปกติในการรักษาโรคแล้วและผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้ แพทย์จึงจะสรุปว่าผู้ป่วยไม่แพ้ยาและรับประทานยาดังกล่าวได้ตามปกติ
  • สำหรับกรณีที่ต้องใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ แพทย์จะให้ยาผู้ป่วยในปริมาณที่น้อยมากแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก 15–30 นาที เป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงหรือหลายวัน หากผู้ป่วยสามารถรับยาจนถึงปริมาณสูงสุดและไม่มีปฏิกิริยาแพ้ก็รักษาด้วยยาชนิดนั้นต่อไปได้

ทั้งนี้ แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้วิธีนี้หากในอดีตผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงหรือถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนของการแพ้ยา

ภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของการแพ้ยา โดยอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น หายใจลำบาก ชัก ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนลง หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การป้องกันการแพ้ยา

ผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าแพ้ยานั้นไม่สามารถป้องกันอาการแพ้ได้ ส่วนผู้ที่ทราบถึงการแพ้ยาของตนเอง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ตนแพ้ โดยมีข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพ้หรืออันตรายจากการแพ้ยาที่สามารถทำได้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบถึงอาการแพ้ โดยควรตอบคำถามหรือระบุอย่างชัดเจนในประวัติการรักษา และบอกให้แพทย์ทราบถึงการแพ้ยาเสมอเมื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ใด ๆ ก็ตาม
  • ใส่ข้อมือสำหรับแจ้งเตือนอาการแพ้ยา เป็นสร้อยข้อมือที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ยาของผู้ป่วย ช่วยให้รับการรักษาได้อย่างถูกวิธีและทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นพกยาเอพิเนฟรินฉุกเฉิน ในกรณีที่เคยมีอาการแพ้ยารุนแรง ผู้ป่วยจะต้องพกยาชนิดนี้ซึ่งเป็นยารักษาอาการแพ้แบบฉีดพร้อมทั้งเข็มฉีดยาด้วยตนเองติดตัวไว้เผื่อภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะสอนวิธีการฉีดยาด้วยตนเองให้แก่ผู้ป่วย